ไม่ใช่ พญานาค แล้ว เป็นอะไร? รูปปั้นบันได สิมวัดกลาง อ.เขมราฐ

จากกรณี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ค ชื่อ @Arisara Kangkun ได้โพสต์ รูปปั้นบันไดทางเข้าสิม วัดกลาง หรือวัดชัยภูมิการาม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ว่า “น้อน” …. เอ็นดูความตาจุด 55555

#เพิ่งรู้ว่าน้อนไม่ใช่พญานาค5555
#ใครแวะมาเที่ยวเขมราษฎร์แวะไปทำบุญและถ่ายภาพกับน้อนในวัดได้นะคะ
#ในเมืองมีอาคารเก่าสวยๆอยู่เยอะค่ะลองมาเที่ยวกันนะ”

“น้อน” ในที่นี้ หมายถึง คำว่า “น้อง” เพิ่อสื่อถึงความน่ารัก ของรูปปั้น ซึ่งโพสต์ดังกล่าว ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก และมีการแชร์โพสต์นี้ออกไปกว่าเจ็ดพันครั้ง ตลอดทั้งสื่อทีวี ช่อง 33 รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ได้นำไปเผยแพร่ต่อ และมีการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามมากมาย แม้แต่คนเขมราฐเองที่คุ้นเคยกับรูปปั้นดังกล่าว ยังสงสัยกันว่า แล้ว ตกลง รูปปั้นดังกล่าว คือตัวอะไรกันแน่
จากการติดตามอ่านคอมเม้นต์ มีการกล่าวถึง เหรา (เห-รา) มกร มอม และเงือก เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า รูปปั้นบันไดขึ้นสิม หรือโบสถ์ ในท้องถิ่น ล้านนา ล้านช้าง และลุ่มน้ำโขง จะมีการนิยมปั้นรูป เหรา แต่ที่พบส่วนมาก จะเป็น เหราคายพญานาค ที่งดงามอลังการ เหรา เป็นสัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์ ซึ่งเฝ้าเชิงเขาพระสุเมรุ ไม่ให้ใครขึ้นไปรบกวนเหล่าทวยเทพต่างๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คติความเชื่อส่งผ่านจาก ฮินดู สู่พุทธ ซึ่งนิยมสร้างรูปปั้น เหรา เฝ้าทางขึ้น อาคารสิ่งก่อสร้างที่สมมติ ว่าเป็นเขาพระสุเมรุ

เหราคายพญานาค ที่พบมาก จะมีการปั้นที่วิจิตรบรรจง มีเกล็ด มีหงอน งดงาม จนกลายเป็นภาพจำ แต่เมื่อได้เห็น เหรา วัดกลาง หรือวัดชัยภูมิการาม อ.เขมราฐ ตัวเกลี้ยง ตาจุดเล็กๆ มีหงอน พองาม จึงเป็นเรื่องแปลกตา แต่หาก พินิจพิเคราะห์ เมื่อดูโดยรวมกับตัวสิม ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงซุ้มแปลกตา แต่เรียบไร้ลวดลายใดๆ เป็นความง่ายงามที่ลงตัว อย่างน่าทึ่ง เป็นความกล้า ของผู้ที่เป็นประธาน หรือ คณะผู้นำในการจัดสร้าง ส่งผ่านฝีมือช่างผู้ก่อสร้าง ลดทอนความหรูหราฟุ่มเฟือย ทิ้งไป
สิมวัดกลาง ยังไม่พบแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ข้อมูลที่พบน่าจะสร้างราว ช่วง ปี พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๔๗๐ โดยฝีมือ ช่างชาวญวน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานก่ออิฐถือปูน ซึ่งจะพบอาคารพานิชย์ ก่ออิฐถือปูน ในพื้นที่เขมราฐ ซึ่งเป็นยุคเดียวกัน อยู่ ๓ หลัง ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นช่างกลุ่มเดียวกันหรือไม่
สิมหลังนี้ ประธานจัดสร้าง คงจะเป็น เจ้าอาวาส ในขณะนั้น โดยความร่วมมือ ร่วมใจของคนในชุมชน โดยขุดดิน ในบริเวณวัด มาร่วมกันปั้นและเผาอิฐ มีชาวญวน เป็นช่างฝีมือ

สิมวัดกลาง หันหน้าไปทิศตะวันออก ซุ้มประตูและระเบียง เป็นทรงสอบแหลมคล้าย วิหาร หรืออาคารแบบยุโรป ผนังอาคารเรียบ ไม่มีลวดลายหรือภาพเขียนใดๆ จะด้วยเจตนาสร้างให้เรียบง่าย ,ด้วยความจำกัดในงบประมาณ หรืออาจจะด้วยความรู้จักประมาณตน ของช่างผู้ก่อสร้าง ไม่อาจทราบได้ แต่ในความเรียบไร้ลวดลาย ก็สามารถสื่อถึงคติธรรม ในการลด ละ ในส่วนที่ไม่จำเป็น ออก ในสิม มีหลวงพ่อสิทธิมงคล เป็นองค์ประธาน ซึ่งอาจจะสร้างโดย พระเทพวงษา (ก่ำ) เจ้าเมืองคนแรก เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว (เดี๋ยวจะสืบค้นข้อมูล มาเล่าให้ฟังต่อไป) ตรงหน้าสิม มีศาลา ก่ออิฐถือปูน ฝีมือช่างญวน แต่อาจจะสร้างภายหลัง ภายในศาลา มีภาพเขียนฝาผนัง ซึ่งมีการเขียนทับซ้อนกันสองยุค บางส่วนที่หลุดร่อนออก เผยให้เห็นภาพเขียนยุคก่อนหน้า ที่มีฝีมืองดงาม และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ

จากข้อมูล คติความเชื่อที่นิยม ในพื้นถิ่น รูปปั้น บันไดทางขึ้นสิมวัดกลาง เขมราฐ ที่เห็น จึงน่าจะเป็น เหรา (เห-รา) แต่ด้วยฝีมือช่าง และเจตนาของผู้จัดสร้าง ทำให้ได้ เหรา ที่น่ารัก ในแบบฉบับ เมืองเขมราษฎร์ธานี ดินแดนแห่งความเกษมสุข ดังที่เห็น มาเขมราฐ อย่าลืม แวะไปมองตา จุด เล็กๆ กันนะครับ

ขอขอบคุณ คุณ Arisara Kangkun ที่เห็นความน่ารัก และทำให้ ผู้คนทั่วไป หรือแม้แต่ชาวเขมราฐ อย่างเรา ได้สนใจเขมราฐ มากขึ้น


และติดตามเรื่องราว จริงหรือไม่? ที่ “วัดกลาง หรือ วัดชัยภูมิการาม” เคยเป็นวัดที่ใช้เป็นสถานที่ ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ของเมืองเขมราษฎร์ธานีและเมืองในสังกัดในอดีต?
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากเพจ ฮักนะเขมราฐ.com
และพี่วัชรินทร์ ผุดผ่อง (Watcharin Pudpong) >> https://web.facebook.com/watcharin.pudpong/
อำคา สุวรรณเพชร "ศิลปินไส้แห้ง" ไม่มีอยู่จริง
Advertisements Share List